ศัลยกรรมช่องปาก : แก้ไขปัญหาของขากรรไกร

การผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติของขากรรไกร (Orthognatic Surgery)

การผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติของขากรรไกร คือ การผ่าตัดเพื่อปรับตำแหน่งของขากรรไกรผนวกกับการจัดฟัน เพื่อให้ผู้เข้ารับการรักษาสามารถที่จะมีโครงหน้าที่ปกติขึ้นรวมไปถึงการสบฟันที่ถูกต้องและเหมาะสม เนื่องจากในบางกรณีความผิดปกติของขนาด รูปร่างหรือตำแหน่งของกระดูกขากรรไกรเพียงเล็กน้อยนั้นสามารถส่งผลกระทบทำให้การสบฟันและการบดเคี้ยวไม่เป็นปกติ รวมไปถึงความผิดปกติของรูปหน้าอีกด้วย

ขั้นตอนการรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติของขากรรไกร (Orthognatic Treatment) 

ขั้นตอนแรก ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดฟันและผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมอื่นๆจะทำการตรวจวินิจฉัยร่วมกันกับศัสยแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านโครงหน้า แล้วจึงทำการวิเคราะห์พร้อมจัดทำแบบจำลองเพื่อพิจารณาหาทางเลือกในการรักษาประกอบในการตัดสินใจ ขั้นตอนนี้จะมีความสำคัญมากเนื่องจากมีผลต่อความสำเร็จของการผ่าตัด ทั้งนี้ทันตแพทย์จะทำการพิจารณาจากฟิลม์เอ๊กซเรย์ รูปถ่ายและแบบจำลอง 

โดยทั่วไปก่อนการเข้ารับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติของขากรรไกรนั้น ผู้เข้ารับบริการจะต้องได้รับการจัดฟันมาก่อนแล้วเพื่อให้ได้ฟันที่มีการเรียงตัวและการสบฟันที่เหมาะสม เนื่องจากจะช่วยทำให้ผู้เข้ารับบริการสามารถมีสบฟันที่ถูกต้องหลังเข้ารับการผ่าตัด และการจัดฟันหลังการผ่าตัดยังคงมีความจำเป็นในทุกกรณีเพื่อแก้ไขการสบฟันที่อาจยังไม่ถูกต้อง สมบูรณ์ หรือเพื่อคงสภาพฟันหลังการผ่าตัด

การผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติของขากรรไกรนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะต้องรอให้ผู้เข้ารับบริการมีฟันแท้ขึ้นมาจนครบเสียก่อน นอกจากในบางกรณีเท่านั้นที่มีความจำเป็นพิเศษ เช่นกรณีอุบัติเหตุ ศัลยแพทย์จึงจะทำการผ่าตัดให้ทันที และการผ่าตัดจัดแต่งขากรรไกรในผู้ใหญ่นั้น บางครั้งยังสามารถเป็นศัลยกรรมเพื่อความงามโดยทำร่วมกับการผ่าตัดเนื่อเยื่อบางส่วนเพื่อให้ได้รูปหน้าที่มีความสวยงามมากขึ้นได้อีกด้วย 

สำหรับกรณีที่ผู้เข้ารับบริการมีคางที่ยื่นผิดปกตินั้น บางครั้งการผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติของขากรรไกรอาจมีความจำเป็นเพื่อช่วยปรับตำแหน่งให้มีการสบฟันที่ถูกต้อง รวมไปถึงสามารถช่วยแก้ไขโครงหน้าให้มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น โดยศัลยแพทย์จะทำการเลื่อนขากรรไกรล่างให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งในการรักษาอาจทำร่วมกับการปลูกถ่ายกระดูกขากรรไกร หรือการปรับแต่งกระดูกคางในบางกรณี 

การจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร

การสบฟันที่ผิดปกติอาจมีสาเหตุร่วมจากความผิดปกติของขากรรไกร เช่นตำแหน่งหรือขนาดของขากรรไกรบนและล่างไม่สัมพันธ์กัน หากพบความผิดปกติของขากรรไกรในระยะเด็ก อาจให้การแก้ไขด้วยเครื่องมือที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของขากรรไกรได้ (Dentofacial Orthopedics) ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของขากรรไกรมาก จะทำให้ฟันสบไม่เข้าที่และรูปหน้าดูไม่สมส่วน จะแก้ไขด้วยการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร (Orthognathic Surgery) การผ่าตัดมักจะทำเมื่อผู้ป่วยหยุดการเจริญเติบโตแล้ว โดยอาจผ่าตัดที่ขากรรไกรเดียว หรือทั้งสองขากรรไกร และอาจผ่าตัดเสริมที่คางได้ด้วย

ขั้นตอนในการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร

เริ่มจากตรวจการสบฟัน พิมพ์ปาก และเอ็กซ์เรย์เหมือนการจัดฟันทั่วไป แต่เมื่อทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาทางทันตกรรมวินิจฉัยว่าความผิดปกติมีสาเหตุ มาจากกระดูกขากรรไกร ทันตแพทย์จะแนะนำทางเลือกที่เป็นการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร หากผู้ป่วยสนใจแผนการรักษาร่วมกับการผ่าตัด ควรนัดปรึกษากับทันตแพทย์ผู้ที่จะทำการผ่าตัด (Oral Surgeon) เพื่อวางแผนการรักษา ประเมินค่าใช้จ่าย ตลอดจนซักถามข้อสงสัยต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินในการเลือกแผนการรักษา

การักษาด้วยการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกรประกอบด้วย 3 ส่วนดังนี้คือ

  1. การจัดฟันก่อนการผ่าตัด (Presurgical Orthodontics) มักใช้เวลาประมาณ 1 – 2 ปี และอาจต้องมีการถอนฟันร่วมด้วย หากฟันซ้อนเกมาก การจัดฟันก่อนผ่าตัด จะใช้เครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่นเคลื่อนฟันในแต่ละขากรรไกรไปในตำแหน่งที่สัมพันธ์กับขากรรไกรนั้น ๆ เนื่องจากการสบฟันที่ผิดปกตินั้น ฟันจะล้มเอนตามธรรมชาติไปในแนวที่ปิดบังความผิดปกติของขากรรไกร ดังนั้นการแก้การล้มเอนตามธรรมชาติและจัดเรียงฟันให้ได้ตำแหน่งที่ถูกต้องบน แต่ละขากรรไกรก่อนการผ่าตัด มักจะทำให้การสบฟันก่อนผ่าตัดรวมทั้งใบหน้าดูแย่ลงชั่วคราว ทันตแพทย์จะตรวจเช็คว่าฟันบนล่างจะสัมพันธ์กันหรือไม่ โดยการให้ผู้ป่วยเลื่อนขากรรไกรล่างออกมาข้างหน้าในกรณีที่ขากรรไกรล่างเล็ก กว่าบน หรือตรวจด้วยการพิมพ์ปากเพื่อเช็คตำแหน่งฟันโดยละเอียดนอกปาก
  2. การผ่าตัด (Orthognathic Surgery) เมื่อพร้อมที่จะทำการผ่าตัด ทันตแพทย์จะพิมพ์ปากและเอ็กซ์เรย์อีกครั้งเพื่อจำลองการผ่าตัดในแบบฟันและ เตรียมทำเฝือกสบฟันสำหรับใช้ในห้องผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำในการเตรียมตัวก่อนและหลังการผ่าตัดจากทันตแพทย์ผู้ ทำการผ่าตัด การผ่าตัดจะทำในโรงพยาบาล และผู้ป่วยมักจะต้องพักฟื้น 1-3 วันในโรงพยาบาล และพักต่อที่บ้านอีกประมาณ 2-4 สัปดาห์แล้วแต่ทันตแพทย์แนะนำ
  3. การจัดฟันหลังการผ่าตัด (Postsurgical Orthodontics) เป็นการจัดฟันในรายละเอียดเพื่อให้การสบฟันสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยมากจะใช้หนังยางดึงฟันร่วมด้วย และมักจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน