ทันตกรรมจัดฟัน
จัดฟัน ดัดฟัน จัดฟันแบบใส จัดฟันด้านใน
ทันตกรรมจัดฟัน เป็นอีกสาขาหนึ่งของทันตกรรม ซึ่งให้ความสำคัญกับการเรียงตัวของฟัน เนื่องจากฟันที่เรียงอย่างไม่เป็นระเบียบนั้นสามารถส่งผลกระทบต่อรูปหน้า ประสิทธิภาพและวิธีการบดเคี้ยว และความสะดวกในการดูแลรักษาความสะอาดฟัน
ในปัจจุบันมีผู้ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของฟันและการจัดฟันมากขึ้น ดังนั้นจึงได้มีการพัฒนาวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ รวมไปถึงเทคนิคและวิธีการจัดฟันแบบใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้ที่ต้องการจัดฟันให้เหมาะสมกับสภาพฟันและความต้องการของผู้เข้ารับบริการ ซึ่งระยะเวลาและวิธีของการจัดฟันที่เหมาะสมของแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอายุและปัญหาของบุคคลนั้นๆ โดยการจัดฟันจะใช้ระยะเวลาประมาณ 6 ถึง 30 เดือน ด้วยวิธีการที่เหมาะสมซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันตแพทย์จัดฟัน อย่างไรก็ตามการจัดฟันจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือและการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีจากผู้เข้ารับบริการ เพื่อให้การจัดฟันนั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด
คลินิกทันตกรรมบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล เดนทัล เซ็นเตอร์ มีการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันแบบต่างๆดังนี้
คลินิกทันตกรรมบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล เดนทัล เซ็นเตอร์ มีการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันแบบต่างๆดังนี้
- การจัดฟันด้วยเครื่องมือจัดฟันแบบDamon system และ การจัดฟันแบบเซรามิกสีเหมือนฟัน (Ceramic brace)
- การจัดฟันด้านในแบบไม่เห็นเครื่องมือ (STb Lingual brace)
- การจัดฟันแบบถอดได้และไม่เห็นเครื่องมือ (Invisalign) และ (Clear Aligner)
ข้อปฏิบัติในระหว่างการจัดฟัน
1. หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารแข็ง เหนียวและกรอบทั้งหลาย เช่น การเคี้ยวก้อนน้ำแข็ง ปลาหมึก ถั่ว ลูกอม ท้อฟฟี่ และหมากฝรั่ง เพราะจะทำให้เครื่องมือจัดฟันหลุดได้
2. การรับประทานผัก ผลไม้ ควรตัดแบ่งเป็นชิ้นเล็กพอคำ และเคี้ยวด้วยฟันกรามข้างหลัง ควรเลือกรับประทานของอ่อน ๆ
3. ในระยะแรกของการจัดฟันมักจะเจ็บฟันและอาจมีแผลเกิดขึ้นในช่องปาก ซึ่งอาการจะค่อย ๆ ทุเลาลงในสัปดาห์ที่ 2 การลดการระคายเคืองโดยนำขี้ผึ้งที่ได้รับจากทันตแพทย์ทาปิดทับบริเวณที่ แหลมคมและการดื่มน้ำให้มาก จะทำให้แผลหายเร็วขึ้น
4. ถ้ามีลวดเส้นเล็ก ๆ งอมาแทงริมฝีปากหรือแก้ม ให้ใช้ของไม่มีคม เช่น ยางลบปลายดินสอเช็ดแอลกอฮอล์ กดปลายลวดเข้าไป
5. แปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร เพื่อลดการเกิดฟันผุในระหว่างการจัดฟัน
6. ในระหว่างการจัดฟันควรพบทันตแพทย์เพื่อขูดหินปูน ทำความสะอาดฟันและตรวจฟันผุทุก ๆ 6 เดือน
การจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร
การสบฟันที่ผิดปกติอาจมีสาเหตุร่วมจากความผิดปกติของขากรรไกร เช่นตำแหน่งหรือขนาดของขากรรไกรบนและล่างไม่สัมพันธ์กัน หากพบความผิดปกติของขากรรไกรในระยะเด็ก อาจให้การแก้ไขด้วยเครื่องมือที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของขากรรไกรได้ (Dentofacial Orthopedics) ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของขากรรไกรมาก จะทำให้ฟันสบไม่เข้าที่และรูปหน้าดูไม่สมส่วน จะแก้ไขด้วยการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร (Orthognathic Surgery) การผ่าตัดมักจะทำเมื่อผู้ป่วยหยุดการเจริญเติบโตแล้ว โดยอาจผ่าตัดที่ขากรรไกรเดียว หรือทั้งสองขากรรไกร และอาจผ่าตัดเสริมที่คางได้ด้วย
ขั้นตอนในการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร
เริ่มจากตรวจการสบฟัน พิมพ์ปาก และเอ็กซ์เรย์เหมือนการจัดฟันทั่วไป แต่เมื่อทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาทางทันตกรรมวินิจฉัยว่าความผิดปกติมีสาเหตุ มาจากกระดูกขากรรไกร ทันตแพทย์จะแนะนำทางเลือกที่เป็นการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร หากผู้ป่วยสนใจแผนการรักษาร่วมกับการผ่าตัด ควรนัดปรึกษากับทันตแพทย์ผู้ที่จะทำการผ่าตัด (Oral Surgeon) เพื่อวางแผนการรักษา ประเมินค่าใช้จ่าย ตลอดจนซักถามข้อสงสัยต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินในการเลือกแผนการรักษา
การักษาด้วยการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกรประกอบด้วย 3 ส่วนดังนี้คือ
- การจัดฟันก่อนการผ่าตัด (Presurgical Orthodontics) มักใช้เวลาประมาณ 1 – 2 ปี และอาจต้องมีการถอนฟันร่วมด้วย หากฟันซ้อนเกมาก การจัดฟันก่อนผ่าตัด จะใช้เครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่นเคลื่อนฟันในแต่ละขากรรไกร ไปในตำแหน่งที่สัมพันธ์กับขากรรไกรนั้น ๆ เนื่องจากการสบฟันที่ผิดปกตินั้น ฟันจะล้มเอนตามธรรมชาติไปในแนวที่ปิดบังความผิดปกติของขากรรไกร ดังนั้นการแก้การล้มเอนตามธรรมชาติและจัดเรียงฟันให้ได้ตำแหน่งที่ถูกต้องบน แต่ละขากรรไกรก่อนการผ่าตัด มักจะทำให้การสบฟันก่อนผ่าตัดรวมทั้งใบหน้าดูแย่ลงชั่วคราว ทันตแพทย์จะตรวจเช็คว่าฟันบนล่างจะสัมพันธ์กันหรือไม่ โดยการให้ผู้ป่วยเลื่อนขากรรไกรล่างออกมาข้างหน้าในกรณีที่ขากรรไกรล่างเล็ก กว่าบน หรือตรวจด้วยการพิมพ์ปากเพื่อเช็คตำแหน่งฟันโดยละเอียดนอกปาก
- การผ่าตัด (Orthognathic Surgery) เมื่อพร้อมที่จะทำการผ่าตัด ทันตแพทย์จะพิมพ์ปากและเอ็กซ์เรย์อีกครั้งเพื่อจำลองการผ่าตัดในแบบฟันและ เตรียมทำเฝือกสบฟันสำหรับใช้ในห้องผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำในการเตรียมตัวก่อนและหลังการผ่าตัดจากทันตแพทย์ผู้ ทำการผ่าตัด การผ่าตัดจะทำในโรงพยาบาล และผู้ป่วยมักจะต้องพักฟื้น 1-3 วันในโรงพยาบาล และพักต่อที่บ้านอีกประมาณ 2-4 สัปดาห์แล้วแต่ทันตแพทย์แนะนำ
- การจัดฟันหลังการผ่าตัด (Postsurgical Orthodontics) เป็นการจัดฟันในรายละเอียดเพื่อให้การสบฟันสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยมากจะใช้หนังยางดึงฟันร่วมด้วย และมักจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน
เครื่องมือคงสภาพฟันหรือรีเทนเนอร์ (Retainer)
การคงความเรียบสวยของฟันทำได้ด้วยใส่เครื่องมือคงสภาพฟันหรือรีเทนเนอร์ (Retainer) ฟันที่เคลื่อนไปสู่ตำแหน่งใหม่จะเลื่อนคืนได้ง่ายเมื่อถอดเครื่องมือจัดฟัน ใหม่ ๆ เพราะสภาพกระดูกและเหงือกหุ้มฟันต้องใช้เวลาในการปรับสภาพเข้ากับตำแหน่ง ใหม่ ดังนั้นหลังถอดเครื่องมือจัดฟันใหม่ ๆ ควรใส่ Retainer ตลอดเวลา ยกเว้นเวลาทานอาหารหรือแปรงฟัน หรือตามทันตแพทย์แนะนำ หลังจากที่เหงือกปรับสภาพกับตำแหน่งฟันใหม่แล้ว ซึ่งระยะเวลาจะแตกต่างกันในแต่ละคน ทันตแพทย์จะแนะนำวิธีค่อย ๆ ลดเวลาใส่ Retainer อย่าลดเวลาใส่เองเป็นอันขาด การใส่ Retainer ไม่สม่ำเสมอ จะทำให้ฟันเลื่อนกลับและ Retainer แน่นเมื่อใส่ หากฟันเลื่อนกลับไปมาก จะใส่ Retainer ไม่ลงที่ ต้องทำ Retainer ใหม่ หรือจัดฟันใหม่ เมื่อใส่แรก ๆ จะมีน้ำลายออกมาก และพูดไม่ถนัด เป็นอาการปกติและ จะดีขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อใส่สม่ำเสมอ ไม่เล่น Retainer ในปาก หรือดัน Retainer ให้หลุดด้วยลิ้น เพราะจะทำให้ Retainer หลวม เมื่อถอด Retainer ออก ต้องใส่ในกล่องที่เตรียมไว้ทันที ห้ามห่อด้วยกระดาษโดยเด็ดขาด เพราะจะสูญหายได้ เขียนชื่อและเบอร์โทรติดต่อ กรณีมีผู้เก็บ Retainer ที่หายไปได้
การทำความสะอาด Retainer ใช้แปรงสีฟันธรรมดาแปรงด้วยยาสีฟันเบา ๆ หรือใช้ยาเม็ดฟู่สำหรับทำความสะอาดฟันปลอมแช่ไว้ขณะทานอาหารที่บ้าน ไม่วาง Retainer ไว้ในที่ที่สัตว์เลี้ยง หรือเด็กเล็กหยิบถึง ถ้า Retainer หายหรือชำรุด แจ้งทันตแพทย์ทันที
รวบรวมคำถามยอดฮิต เกี่ยวกับการจัดฟัน
ถาม โดยทั่วไป คนไข้ควรจะรับการบำบัดรักษาทางทันตกรรมจัดฟันเมื่อไร
ตอบ การที่จะเริ่มให้การบำบัดรักษาทางทันตกรรมจัดฟันเมื่ออายุเท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับ
- หากมีความผิดปกติของ ความสัมพันธ์ของกระดูกขากรรไกรบน-ล่าง ก็ควรจะเริ่มการบำบัดรักษา ตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อป้องกันมิให้ปัญหาลุกลามต่อไป
- หากมีความผิดปกติในการเรียงตัวของฟัน เฉพาะตำแหน่ง ซึ่งถ้าทิ้งไว้ จะทำให้มีผลต่อพัฒนาการ ของกระดูกขากรรไกร และฟันข้างเคียง และการแก้ไขความผิดปกติดังกล่าวสามารถทำได้ไม่ยุ่งยาก ก็ควรจะเริ่มการบำบัดรักษา ตั้งแต่เมื่อเริ่มพบเห็น ความผิดปกติ
- หากคนไข้มีอุปนิสัย (Oral habit) ที่ผิดปกติบางประการที่มีผลต่อพัฒนาการของกระดูกและฟัน เช่น การกลืนที่ผิดปกติ การกัดริมฝีปากและเล็บ การดูดนิ้ว การหายใจทางปาก ก็ควรจะเริ่มให้การบำบัดรักษาอุปนิสัยที่ผิดปกติดังกล่าว ตั้งแต่ในระยะแรกที่ตรวจพบ
ถาม ในกรณีที่ทันตแพทย์จัดฟันเห็นว่าคนไข้มีความจำเป็นต้องรับการบำบัดรักษาตั้งแต่ในวัยเด็กแต่คนไข้ละเลย และมาขอรับการบำบัดรักษาตอนโตจะเกิดผลเสียใด ๆ หรือไม่ ?
ตอบ ผลที่อาจเกิดขึ้นมีหลายประการ ดังนี้
- ความผิดปกติมีความรุนแรงมากขึ้น จนทำให้เกิดความยากลำบากในการบำบัดรักษา หรือในบางรายมีความจำเป็นต้องใช้การผ่าตัดขากรรไกรเข้าร่วมกับการบำบัดรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน
- ผลของการบำบัดรักษาอาจไม่ได้ผลดีเท่ากับการบำบัดรักษาที่เริ่มต้นเมื่อวัยเด็ก
- การบำบัดรักษาช่วงที่เด็กเข้าสู่วัยรุ่น อาจจะใช้ระยะเวลาที่ยาวนานกว่า
ถาม คนไข้ที่มาขอรับการบำบัดรักษาทางทันตกรรมจัดฟันจำเป็นต้องถอนฟันเพื่อการจัดฟันหรือไม่ ?
ตอบ การบำบัดรักษาทางทันตกรรมจัดฟันจำเป็นต้องถอนฟันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตรวจพิเคราะห์ของทันตแพทย์จัดฟัน แต่โดยทั่วไปคนไข้ที่มีฟันซ้อนเกมากหรือฟันยื่นมากมักจะมีแนวโน้มที่จะต้องถอนฟัน
ถาม เครื่องมือที่ใช้ในการจัดฟันมีกี่ชนิด และคนไข้สามารถเลือกเครื่องมือในการบำบัดรักษาได้หรือไม่ ?
ตอบ เครื่องมือที่ใช้ในการบำบัดรักษาทางทันตกรรมจัดฟันแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 2 ประการ คือ เครื่องมือชนิดติดแน่น ซึ่งจะเป็นโลหะที่ติดอยู่บนซี่ฟัน ตลอดช่วงเวลาของการบำบัดรักษา และเครื่องมือชนิดถอดได้ ซึ่งคนไข้สามารถถอดออกและใส่ได้เองซึ่งเครื่องมือแต่ละชนิดก็จะให้ผลในการบำบัดรักษาที่แตกต่างกัน การใช้เครื่องมือชนิดใด ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาตัดสินใจของทันตแพทย์จัดฟันถึงความจำเป็นและความเหมาะสมของเครื่องมือแต่ละชนิด
ถาม ระยะเวลาที่ใช้ในการจัดฟันนั้นนานเท่าใด
ตอบ การบำบัดรักษานั้นจะยาวนานเท่าใด ขึ้นอยู่กับ ความผิดปกติที่ต้องการแก้ไขและความร่วมมือของคนไข้ หากคนไข้ให้ความร่วมมือดีผลการบำบัดรักษาก็จะออกมาดีและใช้ระยะเวลาสั้น แต่การรักษาโดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี
ถาม ระหว่างการรักษาคนไข้จะต้องไปพบทันตแพทย์จัดฟันบ่อยเพียงใด ?
ตอบ โดยทั่วไปคนไข้จะต้องไปพบทันตแพทย์จัดฟัน ทุก 4-6 สัปดาห์ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับช่วงของการบำบัดรักษา
ถาม ในการจัดฟันจะมีผลทำให้ฟันผุง่ายขึ้นหรือไม่ ?
ตอบ ฟันที่ได้รับการบำบัดรักษาทางทันตกรรมจัดฟันก็เหมือนฟันปกติทั่วไป ซึ่งหากทำความสะอาด อย่างสม่ำเสมอและทั่วถึงแล้วก็ไม่มีโอกาสที่จะผุ
ถาม ในระหว่างจัดฟันจะต้องมีการดูแลความสะอาดเป็นพิเศษใด ๆ หรือไม่ ?
ตอบ โดยทั่วไปมักจะแนะนำให้คนไข้จัดฟันแปรงฟันและทำความสะอาดฟันหลังอาหารทุกมื้อในกรณีที่ใช้เครื่องมือชนิดถอดได้ ก็ให้ทำความสะอาดเครื่องมือด้วยยาสีฟันและแปรงสีฟันร่วมด้วย นอกจากนี้ก็ควรงดเว้นอาหารรสหวานจัด หรือติดฟัน ในรายที่ใช้เครื่องมือ ชนิดติดแน่น ควรงดเว้นอาหารกรอบและแข็ง เช่น ถั่วต่าง ๆ , น้ำแข็ง เพราะมีโอกาสที่จะทำให้เครื่องมือ ที่ติดอยู่กับฟันหลุดออก อันจะมีผลให้ การบำบัดรักษายุ่งยากและไม่ได้ผลเท่าที่ควร
ถาม ในการจัดฟันนั้นเจ็บมากน้อยเพียงใด ?
ตอบ ทุกครั้งที่มีการปรับหรือเปลี่ยนลวดที่ใช้ในการจัดฟัน คนไข้จะรู้สึกตึง หรือเจ็บบ้าง ในช่วงสัปดาห์แรก ของการปรับเปลี่ยนลวดจัดฟัน แต่หากรู้สึกเจ็บปวดรุนแรงผิดปกติควรกลับไปพบทันตแพทย์จัดฟันผู้ให้การบำบัดรักษาทันที ค่าใช้จ่ายในการจัดฟันนั้น จะแตกต่างกันไปบ้างขึ้นกับชนิด ของการบำบัดรักษา
ถาม การสบฟันผิดปกติเกิดจากสาเหตุอะไร
ตอบ มีสาเหตุหลัก 2 ประการคือ กรรมพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม
สาเหตุทางกรรมพันธุ์ เกิดจาการถ่ายทอดลักษณะของฟัน, จำนวนซี่ฟัน, และขนาดและตำแหน่งของขากรรไกรจากพ่อแม่มายังลูก ได้แก่ ฟันหาย ฟันเกิน ความไม่สัมพันธ์กันระหว่างขนาดฟันและขนาดของขากรรไกร เช่น ฟันที่มีขนาดใหญ่ในขากรรไกรที่เล็ก จะทำให้เกิดความซ้อนเกของฟัน หรือในทางกลับกัน ฟันที่เล็กแต่มีขากรรไกรใหญ่จะเกิดช่องห่างระหว่างฟันได้ นอกจากนี้ความผิดปกติของการสบฟันที่เกิดจาก ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่นปากแหว่งเพดานโหว่ มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมเช่นกัน
สาเหตุทางสิ่งแวดล้อม เช่น การมีนิสัยผิดปกติ เช่น ดูดนิ้ว, หายใจทางปาก, การดุนฟันจากลิ้น, การสูญเสียฟันและไม่ได้ทดแทนทำให้ฟันข้างเคียงล้ม หรือ การเกิดอุบัติเหตุบริเวณใบหน้า ก็สามารถทำให้เกิดความผิดปกติของการสบฟันได้
ถาม อายุเท่าไรควรเริ่มจัดฟัน
ตอบ การจัดฟันนั้นสามารถทำได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจการสบฟันจากทันตแพทย์ทั่วไปหรือทันตแพทย์ประจำ และได้รับการส่งต่อมายังทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาทางด้านทันตกรรมจัดฟันทันที ที่สังเกตุพบปัญหาการสบฟัน การจัดฟันส่วนใหญ่มักเริ่มทำในเด็กมีฟันแท้ขึ้นเกือบครบ คืออายุประมาณ 11-13 ปี อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาการสบฟันบางอย่างสามารถทำในช่วงฟันผสม เพื่อลดความรุนแรงของปัญหาหรือเพื่อป้องกันการไม่ให้เกิดการพัฒนาไปเป็นความ ผิดปกติที่มีความรุนแรงขึ้น เช่นการจัดฟันหน้าบางส่วนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุกระทบกระแทกต่อ ฟันในกรณีที่ฟันหน้าบนยื่นมาก ๆ การจัดฟันในชุดฟันผสมมักเป็นการรักษาระยะสั้น และเป็นการจัดฟันบางส่วนเท่านั้น เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ระยะฟันแท้ ส่วนใหญ่จะจำเป็นต้องได้รับการจัดฟันทั้งปากต่อไป
ถาม การปรึกษา, วินิจฉัย และวางแผนการรักษาก่อนจัดฟันคืออะไร
ตอบ ทันตแพทย์จะถ่ายซักถามประวัติ, ตรวจในช่องปาก, เอ็กซ์เรย์ฟันทั้งปากและศรีษะ, พิมพ์ปากทำแบบจำลองฟัน และอาจถ่ายรูปฟันและใบหน้า เพื่อเป็นข้อมูลในการวินิฉัยและวางแผนการรักษา ประเมินเวลา และค่าใช้จ่าย ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยและผู้ปกครอง (กรณีผู้ป่วยเด็ก) ได้เลือกแผนการรักษา ถ้ามีแผนที่เป็นไปได้มากกว่า 1 แผน และซักถามข้อสงสัยต่าง ๆ การปรึกษารวมทั้งการทำประวัติดังกล่าวมิได้เป็นการผูกมัดผู้ป่วย หากผู้ป่วยต้องการคำแนะนำจากทันตแพทย์ท่านอื่นสามารถนำเอ็กซ์เรย์ และแบบจำลองฟันไปได้ ผู้ป่วยควรศึกษาและสอบถามถึงแผนการรักษา รายละเอียด ผลข้างเคียง และผลการรักษาที่คาดหมายอย่างละเอียด ก่อนเริ่มจัดฟัน
ถาม ควรตรวจสุขภาพฟันก่อนจัดฟันอย่างไร
ตอบ ก่อนรับการจัดฟัน ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจช่องปาก หากมีฟันผุจะต้องอุดให้เรียบร้อย และขูดหินปูนให้สะอาด หากมีโรคเหงือกจะต้องได้รับการรักษาจนถึงระดับที่ควบคุมโรคเหงือกได้ ระหว่างการจัดฟัน ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจและทำความสะอาดฟันเป็นระยะ ๆ โดยทันตแพทย์ประจำตัว อย่างน้อยทุก 6 เดือน การขูดหินปูนระหว่างจัดฟันด้วยเครื่องมือติดแน่นสามารถทำได้โดยไม่ต้องถอด เครื่องมือออก
ทำไมต้องถอนฟัน
ในกรณีที่ฟันซ้อนเกมากหรือฟันยื่นมาก การถอนฟันจะทำให้มีช่องว่างเพื่อที่จะเรียงฟันที่ซ้อนเก และหรือดึงฟันเข้าเพื่อลดความยื่น โดยช่องที่เกิดจากการถอนฟันเพื่อจัดฟันจะถูกใช้ไปให้หมด โดยไม่ต้องใส่ฟันปลอม ฟันที่มักถูกถอนเพื่อประโยชน์ในการจัดฟันมักเป็นฟันกรามน้อยที่อยู่หลังฟัน เขี้ยว อย่างไรก็ตามซึ่งฟันบางซี่ที่อาจจะไม่เอื้ออำนวยความสะดวกในการดึงฟันที่เก นัก แต่มีปัญหา เช่นฟันที่ผุมาก
ฟันที่มีวัสดุอุดใหญ่ หรือฟันที่รูปร่างผิดปกติ ทันตแพทย์อาจจะพิจารณาถอนฟันเหล่านี้แทนเพื่อเก็บฟันที่ดีที่สุดไว้แต่ทั้งนี้การรักษาอาจจะใช้เวลายาวนานขึ้นกว่าปกติ หรือ อาจต้องใช้เครื่องมือพิเศษเพิ่มในการรักษารูปหน้ากับการจัดฟัน
ถาม การเปลี่ยนแปลงรูปหน้าหลังการจัดฟัน เกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่อไปนี้ประการใดสาเหตุหนึ่งหรือร่วมกัน
ตอบ
- การเจริญเติบโตของใบหน้าและขากรรไกร ซึ่งเติบโตมากในช่วงวัยรุ่น และโตเต็มที่เมื่อ
- อายุประมาณ 14-16 ปีในผู้หญิง และ ประมาณ 18 ปีในผู้ชาย ขนาดของขากรรไกรถูกกำหนดโดยพันธุกรรมเป็นส่วนใหญ่ การจัดฟันด้วยเครื่องมือมีผลต่อการเจริญเติบโตของขากรรไกรในช่วงที่ยังโตไม่ เต็มที่ จะสามารถยับยั้งหรือกระตุ้นการเจริญของขากรรไกรบนได้เล็กน้อย หลังจากช่วงวัยรุ่นไปแล้ว ใบหน้าและขากรรไกรไม่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่บริเวณจมูกและคางจะยังยื่นขึ้นได้เล็กน้อยเมื่ออายุมากขึ้น
- การเคลื่อนฟัน เนื่องจากฟันหน้าเป็นส่วนพยุงริมฝีปากไว้ ดังนั้น การเคลื่อนฟันหน้าไปด้านหน้าหลังจะมีผลต่อรูปปากได้ เช่น การถอนฟันและดึงฟันหน้าไปข้างหลังจะมีผลทำให้ริมฝีปากยุบลง
- การผ่าตัดขากรรไกร สามารถเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปร่างของขากรรไกรได้อย่างเด่นชัด
ข้อมูลถาม-ตอบ เกี่ยวกับการจัดฟัน มาจากเวบไซร์ของสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย